วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Super Sensei

Book Memo: 『奇跡の教室』...ซูเปอร์เซ็นเซ



Title: 奇跡の教室:エチ先生と『銀の匙』のこどもたち (ซูเปอร์เซ็นเซ)
Author: 伊藤氏貴

ที่ญี่ปุ่น ตามสถานีรถไฟต่างๆมักจะมีร้านหนังสืออยู่ค่ะ เวลาคนนัดเจอกันหรือรอรถไฟ ก็มาอ่านหนังสือฆ่าเวลาก่อนได้ ฉันเองก็มายืนๆพลิกหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ดูระหว่างรอเพื่อน ก็เผอิญเจอกับหนังสือเล่มนี้เข้าค่ะ
ชื่อหนังสือ แปลตรงๆว่า ”ห้องเรียนมหัศจรรย์ เอฉิเซ็นเซกับเด็กๆเรื่อง”ช้อนเงิน”” ฉันแปลให้สั้นๆว่า ”ซูเปอร์เซ็นเซ”ค่ะ คำว่า เซ็นเซ ภาษาไทยคือ ครูหรืออาจารย์ค่ะ จำได้ว่า ตอนอ่านเรื่อง ”โคโคโระ”ของนัตสึเมะ โซเซกิฉบับแปลไทย ผู้แปลก็ไม่ได้แปลคำว่าเซ็นเซ เรียกทับศัพท์ไปเลย เพราะในภาษาไทย ไม่มีศัพท์มาแทนคำนี้ได้


เอฉิเซ็นเซ ชื่อจริงชื่อ ฮาชิโมโต้ ทาเคชิค่ะ เอฉิเซ็นเซ เป็นชื่อที่เด็กๆตั้งให้ มาจากคำว่า เอธิโอเปีย (ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า เอฉิโอพีอะ) ตอนนั้น มีข่าวครึกโครมเรื่องเจ้าชายเอธิโอเปียจะแต่งงานกับลูกสาวตระกูลผู้ดีญี่ปุ่น แต่แล้วก็ไม่ได้แต่ง พอดีทรงผมอาจารย์ฮาชิโมโต้แกคล้ายๆเจ้าชายองค์นี้ เด็กๆก็เลยตั้งชื่อว่า เอฉิเซ็นเซค่ะ


แกสอนที่โรงเรียนนาดะในเมืองโกเบซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ก่อน โรงเรียนเอกชนไม่ค่อยมีชื่อเสียงค่ะ เด็กๆแย่งกันสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลมากกว่า แต่เอฉิเซ็นเซก็ทำให้จำนวนนักเรียนร.ร.นาดะที่สอบติดมหาลัยโตเกียว(ม.อันดับ๑ของญี่ปุ่น)สูงที่สุดในประเทศเลยค่ะ

ร.ร.นาดะมีระบบสอนที่แปลกจากโรงเรียนอื่นคือ อาจารย์คนเดิมจะสอนนักเรียนห้องเดิมตั้งแต่ม.๑ถึงม.๖ในแต่ละวิชาค่ะ เอฉิเซ็นเซสอนวิชาภาษาญี่ปุ่น วิธีการสอนของแกก็แปลกมาก คือ ใช้นิยายที่ชื่อ กิงโนะซาฉิ (แปลว่า ช้อนเงิน) สอนนักเรียน๓ปี คือตั้งแต่ม.๑ถึงม.๓
(หมายเหตุ..เอฉิเซ็นเซเริ่มสอนแบบนี้หลังมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร หลังจากที่แกสอนที่นี่ได้๑๖ปีค่ะ)

ฉันเองก็ไปหานิยายเล่มนี้มาอ่านตาม เป็นหนังสือเล่มเล็กๆบางๆ ไม่เกินสามร้อยหน้าค่ะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างผู้เขียนกับคุณป้า ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวต่างๆตอนที่เขายังเป็นเด็กค่ะ

เนื่องจากร.ร.นาดะเป็นร.ร.ชายล้วน นักเรียนไม่ค่อยจะสนใจวิชาภาษาญี่ปุ่นเท่าไรค่ะ ก่อนเริ่มเรียน นักเรียนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความสนใจในแต่ละวิชา มีนักเรียนแค่ 5%ที่ตอบว่าสนใจภาษาญี่ปุ่น แต่ผ่านไป๑ปี นักเรียน95%กลับตอบว่าสนใจค่ะ

ว่าแต่ เอฉิเซ็นเซสอนอย่างไรหนอ สอนหนังสือนิยายเล่มบางๆตั้ง๓ปี คำตอบซ่อนอยู่ในชีทที่อาจารย์แจกค่ะ

นี่เป็นรูปชีทที่เอฉิเซ็นเซเขียนและทำขึ้นเอง
(ภาพจากหนังสือ 『恩師の条件』)

อย่าลืมว่า สมัยก่อน ไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร อาจารย์แกะแม่พิมพ์เอง แล้วเอาไปสกรีนหมึกทีละใบๆ นักเรียนกี่สิบคนก็คูณไปสิคะ ทุกครั้ง อาจารย์จะหอบชีทกองโตเข้ามาในห้องเรียน บางที เด็กๆก็ตะลึงในความสูงของกองชีทจนทุกคนปรบมือให้ทีเดียวค่ะ

เมื่อสิ้นปี อาจารย์ก็จะให้นักเรียนทุกคนเย็บชีทที่เรียนเข้าด้วยกัน ใส่ปก เย็บหนังสือทำมือขึ้นมา


เนื้อหาของชีทจะสัมพันธ์กับแต่ละบทที่นักเรียนได้เรียน เช่น บทที่พรรณนาถึงต้นไม้ ดอกไม้ อาจารย์ก็จะรวบรวมชื่อดอกไม้ต่างๆที่อ่านยาก ให้นักเรียนลองอ่านดู บทที่พูดถึงเด็กไปซื้อขนม อาจารย์ก็พยายามหาขนมเหล่านั้นมาให้นักเรียนลองชิมดู บทที่พูดถึงตัวเอกเล่นว่าว อาจารย์ก็ไปขออาจารย์วิชาศิลปะให้สอนวิธีทำว่าวให้ เด็กๆก็วาดรูปบนว่าวและเล่นอย่างสนุกสนานเลยค่ะ
นักเรียนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ตอนแรกๆพวกเขาก็งงว่า จะเรียนหนังสือนิยายไปทำไมตั้งสามปี แต่พอผ่านไปเดือนหรือสองเดือน เขารู้สึกว่า กิจกรรมต่างๆที่เอฉิเซ็นเซให้ทำนั้น ทำให้เขาผูกพันกับหนังสือเล่มนี้ และเหมือนสวมวิญญาณตัวเอกเผชิญในโลกนิยายฉบับนี้เลยทีเดียว
ไอเดียของเอฉิเซ็นเซที่ฉันคิดว่าเก๋มากคือการให้นักเรียนลองตั้งชื่อบทแต่ละบทในนิยายดูค่ะ หนังสือเรื่องช้อนเงินนี้ เดิมเป็นนิยายลงหนังสือพิมพ์รายวัน เนื้อเรื่องแต่ละบทจึงสั้นและไม่มีชื่อเรื่อง อาจารย์ก็ให้ทุกคนลองตั้ง และร่วมกันถกว่า ชื่อไหนสมควรจะได้เป็นชื่อบทนี้ เด็กๆชอบมาก และก็เป็นการฝึกให้นักเรียนหัดอภิปราย ปรึกษาหารือกันด้วย
อีกอย่างที่ฉันสนใจคือ เมื่อมีศัพท์ยากๆหรือวิธีเขียนใหม่ๆ อาจารย์จะทำที่ว่างเว้นไว้ให้นักเรียนลองหัดแต่งประโยคเลียนแบบผู้เขียนดู ฉันนึกถึงตอนอยู่ม.ปลาย เวลาสอบย่อยจะมีให้เขียนความเห็น เขียนประโยคเหมือนกัน ซึ่งฉันชอบมากและรู้สึกอิสระดี ไม่ต้องถูกจำกัดอยู่แค่คำตอบก.ข.ค.
เอฉิเซ็นเซก็ให้เด็กฝึกโน่น คิดนี่ สมมติว่าในบทหนึ่งมีคำว่า ขึ้น๑๕ค่ำเดือนอ้าย อาจารย์ก็จะเล่าถึงวิธีการนับเดือน นับข้างขึ้นข้างแรมแบบโบราณ เล่าเลยไปถึงปีนักษัตร ตำนานราศีต่างๆ ซึ่งเด็กๆก็ฟังกันเพลินทีเดียว
เป็นอย่างนี้ สามปีถึงค่อยจบหนึ่งเล่มค่ะ
ฉันเชื่อว่า ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินการฝึก Speed-reading หรือการหัดอ่านแบบกวาดตา (skimming) อ่านจับใจความนะคะ แต่วิธีของเอฉิเซ็นเซกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้เขียนได้เรียกวิธีนี้แบบขันๆว่า "Slow-reading"ค่ะ อาจารย์สอนให้นักเรียนรู้สึกสนุก เข้าใจความงามของภาษา และรู้จักคิด วิเคราะห์ ดัดแปลงนำไปใช้ ซึ่งฉันเองก็มองว่า เป็นกระบวนการสอนที่ครบองค์ประกอบมากทีเดียว และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียว
ลองคิดดูนะคะ การสอนตามตำราที่กระทรวงกำหนด มีคู่มือครูให้ คงเป็นเรื่องไม่ยาก แค่ให้เด็กๆทำตามจุดประสงค์การสอน แผนการสอนก็เสร็จ แต่การสอนแบบไม่มีตำรา สอนจากนิยายเล่มหนึ่ง ผู้สอนต้องตีความบทความแต่ละบทให้แตก หาจุดที่จะมาสอน คิดและร่างแบบฝึกหัด ชีทเสริมขึ้นมาเอง และที่สำคัญ เป็นยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์แพร่หลาย ไม่มีปริ๊นท์เตอร์สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ค่ะ (สามสิบกว่าปีก่อนค่ะ)
ฉันอ่านไปก็สำนึกไป ถึงฉันจะเป็นแค่ครูสอนพิเศษภาษาไทย ฉันก็สำนึกผิดต่อลูกศิษย์ที่ว่าฉันเป็นครูที่ไม่ได้ทุ่มเทอะไรเลย เตรียมการสอนก็ไม่ค่อยได้เตรียมค่ะ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ทึ่งทั้งวิธีการดัดแปลงและวิธีสอน วิธีดึงความสนใจของนักเรียน รวมถึงสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณความเป็น"ครู"ค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น